สาเหตุโรคกรดไหลย้อน ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
อาการแสบร้อนทรวงอกเนื่องจากกรดไหลย้อน เป็นอาการของโรคกรดไหลย้อน (GERD หรือ Gastroesophageal reflux disease) ซึ่งนอกจากอาหารบางประเภทจะกระตุ้นอาการนี้ เช่น กาแฟ น้ำอัดลม มะเขือเทศ แอลกอฮอล์ และช็อกโกแลต ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจเป็น สาเหตุโรคกรดไหลย้อน ได้เช่นกัน
- ยาบางชนิด
หากคุณใช้กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-inflammatory Drug: NSAID ) เป็นประจำ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาพรอกเซน (naproxen) อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ คุณควรปรึกษาคุณหมอ หากคิดว่ายาที่ใช้รักษาโรคส่งผลต่ออาการกรดไหลย้อนของคุณ และไม่ควรตัดสินใจหยุดกินยาด้วยตัวเอง สำหรับยาบางชนิดที่จ่ายโดยแพทย์ รวมถึงยาที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายยา ที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถกระตุ้นอาการแสบร้อนทรวงอก ได้แก่ ยารักษาอาการของโรคหอบหืด โรคความดันสูง ปัญหาหัวใจ โรคข้ออักเสบ หรือการอักเสบอื่นๆ ยารักษาโรคกระดูกพรุน รวมถึงยาที่ใช้รักษาโรคนอนไม่หลับ โรคซึมเศร้า และยาบรรเทาความเจ็บปวด
- การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ทำให้อาการของโรคกรดไหลย้อนแย่ลง เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูด ที่กั้นระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหารอ่อนแอลง (ส่งผลให้กรดในกระเพาะไหลย้อนกลับมาในหลอดอาหาร) เป็นสาเหตุให้น้ำดีที่ใช้ในการย่อยไขมัน ย้ายจากลำไส้เล็กไปสู่กระเพาะ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังลดปริมาณน้ำลาย ที่โดยปกติแล้วมีหน้าที่กำจัดกรดออกจากหลอดอาหาร โดยในน้ำลายจะมีไบคาร์บอเนต ซึ่งเป็นตัวต้านกรดโดยธรรมชาติ
- ความเครียด
ความเครียดสามารถเป็นตัวกระตุ้นอาการกรดไหลย้อน แต่ความเครียดไม่ได้เป็นสาเหตุ ที่ทำให้การผลิตกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยใน Journal of Psychosomatic Research ที่ชี้ว่า ผู้ป่วยที่มีอาการกรดไหลย้อน มักรู้สึกถึงอาการนี้เมื่อมีความเครียด แต่ไม่ได้บ่งชี้ถึงระดับของกรดในกระเพาะที่เพิ่งขึ้นจริงๆ แต่อย่างใด หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ที่เครียดอาจรู้สึกถึงอาการกรดไหลย้อนมากขึ้น หรือผลกระทบจากความเครียดทางประสาทวิทยา อาจจะส่งผลให้เพิ่มความเจ็บปวดในหลอดอาหารมากขึ้นได้
- การกินอาหารมากเกินไป
ผู้ที่ชื่นชอบการกินบุฟเฟต์ ควรระวังปริมาณในการกิน เพราะการกินอาหารมากเกินไป อาจกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน เนื่องจากกระเพาะจะขยายขนาดเวลาที่มีอาหารมากในกระเพาะ ยิ่งกระเพาะของคุณขยายขนาดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารตอนล่าง จะปิดได้ไม่ดีมากเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลทำให้ไม่สามารถป้องกันอาหาร และน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ไหลขึ้นย้อนกลับมาในหลอดอาหารได้
- นิสัยการกิน
การกินเร็วเกินไป อาจกระตุ้นอาการกรดไหลย้อน รวมถึงการกินอาหารในท่านอน หรือกินอาหารตอนกลางคืน ในช่วงเวลาก่อนเข้านอน 2-3 ชั่วโมง นิสัยการกินเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน มีงานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นที่ชี้ว่า ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนไม่ควรกินอาหารก่อนเอนตัวลงนอน ดังนั้น นิสัยการกินทั้งการกินเร็ว กินแล้วเอนตัวลงนอนทันที รวมถึงการกินก่อนเวลาเข้านอน ต่างก็อาจทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้
- โรคไส้เลื่อนกะบังลม
กะบังลมคือผนังกล้ามเนื้อที่กั้นระหว่างกระเพาะกับช่องอก ซึ่งจะช่วยกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารตอนล่าง (LES, lower esophageal sphincter) ในการรักษากรดในกระเพาะอาหารให้อยู่ภายในกระเพาะอาหาร แต่เมื่อกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารตอนล่าง และส่วนบนของกระเพาะอาหารเคลื่อนที่ขึ้นด้านบน กะบังลมจะทำให้เกิดโรคไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal Hernia) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะส่งผลให้เกิดอาการกรดไหลย้อน และคุณอาจไม่รู้ว่าคุณมีอาการโรคไส้เลื่อนกะบังลมก็เป็นได้ แต่โดยปกติ อาการแสบร้อนทรวงอกเนื่องจากกรดไหลย้อน อาจไม่ได้หมายถึงภาวะไส้เลื่อนกะบังลมเสมอไป
- ความอ้วน หรือน้ำหนักเกิน
งานวิจัยชี้ว่าความอ้วนหรือการมีน้ำหนักเกิน สามารถกระตุ้นอาการกรดไหลย้อน อาการแสบร้อนทรวงอก และโรคกรดไหลย้อนได้ โดยมีงานวิจัยที่ได้เปรียบเทียบกลุ่มคนผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน กับกลุ่มผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคกรดไหลย้อน กลุ่มผู้ที่มีปัญหากรดไหลย้อนโดยทั่วไป จะมีน้ำหนักมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นโรคกรดไหลย้อน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยในปี 2003 ที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of the American Medical Association ที่พบว่าความเสี่ยงในการมีอาการกรดไหลย้อน จะเพิ่มขึ้นตามค่าดัชนีมวลกาย (Body-mass index, BMI) และดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าดัชนีมวลกายกับอาการกรดไหลย้อนนี้ จะเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (โดยเฉพาะผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน) คำอธิบายอีกอย่างหนึ่งในกรณีนี้ที่เป็นไปได้ก็คือ เนื่องจากการมีมวลไขมันมากเกินไปในช่องท้อง และสารเคมีที่มวลไขมันปล่อยออกมา อาจเป็นปัจจัยที่เป็นไปได้ว่า อาจทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน
- การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายอาจกระตุ้นอาการกรดไหลย้อน โดยบางครั้งอาจมีสาเหตุเนื่องจากความดันที่เพิ่มขึ้นในช่องท้อง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกรดไหลย้อน มีการศึกษาวิจัยที่ดูความแตกต่างของประเภทของการออกกำลังกาย ผลการวิจัยพบว่านักกีฬายกน้ำหนักมีอาการแสบร้อนทรวงอกและกรดไหลย้อนมากที่สุด ส่วนนักวิ่งมีอาการไม่รุนแรง และมีอาการกรดไหลย้อนน้อยกว่านักยกน้ำหนัก และนักปั่นจักรยานมีภาวะกรดไหลย้อนน้อยที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.sanook.com/health/13029/